เชียงคาน, เลย
เชียงคาน, เลย
เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เคยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือราชอาณาจักรลาวมาก่อน เมืองเชียงคานเก่า หรือเมืองสานะคาม (ชนะสงคราม) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางยุทธศาสตร์สมัยราชอาณาจักรล้านช้าง ถูกก่อสร้างโดย ขุนคาม โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1400ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2250 ทางเวียงจันทร์ได้ตั้งเมืองเชียงคานเดิม ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่าน
พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ ตีเวียงจันทร์ได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย แล้วได้กวาดต้อนผู้คนมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองขึ้นกับเมืองพิชัย
ต่อมมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมา เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย หลังจากปราบได้สำเร็จแล้ว ก็ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาอยู่เมืองปากน้ำเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นกับเมืองพิชัย
ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสดมภ์เมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก
ครั้นต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง “แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่” ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายที่อยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้
เมืองเชียงคาน ในปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในสายตาของนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้ยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งเพิ่งจะมีการจัดงานฉลอง “100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณ ริมฝั่งโขง” ไปเมื่อวันที่ 4-6 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ให้คงอยู่สืบไป
เมืองเชียงคาน เมืองโบราณ.. บ้านไม้เก่าๆ ร้านกาแฟ มุมหนังสือเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เดินเที่ยวกันให้เต็มไปหมด อาจจะด้วยเพราะเมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชียงคานแห่งนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายๆ สิ่งที่เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เชียงคานจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราทุกคนยังคงช่วยกันรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคานสืบไป ความเป็นเชียงคานที่คงความเป็นเอกลักษณ์ได้ยาวนานกว่าร้อยปี ก็จะเป็นเช่นเดิมตลอดไป
การเดินทางไปเชียงคาน
1. โดยรถส่วนตัว
– จากกรุงเทพใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) เมื่อถึงจ. สระบุรีใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่าน อ. ปากช่องลำตะคอง แยกซ้ายเข้าอ.สีคิ้ว จ. นครราชสีมาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอ.ด่านขุนทดเข้าสู่ จ. ชัยภูมิ แยกขวาและไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอ. คอนสวรรค์ อ. แก้งคร้อ ,อ. ภูเขียว,อ.ชุมแพ จ. ขอนแก่น เมื่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 12 แยกซ้ายไปทาง อ .คอนสาร จากนั้นแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 สู่เขต จ.เลยอีกที ที่ภูผาม่าน ผ่านภูกระดึง วังสะพุง ถึงตัวเมืองเลย สุดท้ายแยกขวาสู่อ.เชียงคาน รวมระยะทางประมาณ 597 ก.ม.
2. โดยรถสาธารณะ
รถโดยสารไปเชียงคาน มีเฉพาะของ บริษัทขนส่ง เท่านั้น ที่ไปถึงเมืองเชียงคาน โดยตรง
– กรุงเทพฯ-เชียงคาน เที่ยวไปเชียงคานมี 2 รอบ คือ รถป. เวลา 20.00 น. และรถ VIP 22.00 น. โทร 0-2936-2841-8),(0-2936-0657)ต่อ605
– เชียงคาน-กรุงเทพ มี 3 รอบ คือ รถ ป. 2 รอบ 18.40 น. รถป 1(ต่อรถที่ตัวเมืองเลย)รอบ 19.30 น. รถ VIP 22.00 น. ซื้อตั๋วได้ที่ร้านแสงทอง ตรงตลาดเช้า โทรจองตั๋วล่วงหน้าได้ที่แอร์เมืองเลย โทร 042 811 706
เที่ยวอย่างไรในเมืองเชียงคาน
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของเมืองเชียงคาน รถจักยานยนต์และรถจักรยาน ถือเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งรีสอร์ท และ เกสต์เฮาส์แต่ละแห่งก็จะมีคอยให้บริการอยู่แล้ว หากต้องการเดินไปแก่งคุดคู้ก็ไปเช่าหารถสกายแล็ปแถวตลาดราคา100บาทค่ะ
สถานที่ท่องเที่ยวในเชียงคาน
วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน จากเชียงคาน – ปากชมประมาณ 6 กิโลเมตร พระพุทธบาทภูควายเงินเป็นรอยพระพุทธบาทประดิษฐานบนหินลับมีด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ. 2478 รอยพระพุทธบาทภูควายเงินเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้มากทุกปีในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 3 ทางวัดจะจัดงานสมโภชประจำปีถือเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบนี้
วัดศรีคุณเมือง วัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงคาน สวยงามด้วยศิลปะที่ผสมผสานระหว่างล้านนาและล้างช้าง
วัดโพนชัย หรือ วัดท่าแขก ชมซุ้มประตูวิหารทรงโค้งแปลกตาที่อยู่บนเส้นทางที่จะไปแก่งคุดคู้ ก็มีความงามไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะเป็นวัดเก่าแก่โบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุต ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก
แก่งคุดคู้
แก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ปั่นจักรยานมาประมาณ 3กิโลเมตรก็ถึงแล้วครับ ที่นี่จะมีหินก้อนใหญ่ ๆ จำนวนมาก ด้วย ความที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเวลานาน ทำให้หินมีสีสันแตกต่างกันกันออกไป ตัวแก่งกว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขงมีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ –พฤษภาคม เป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน และตลอดเส้นทางไปแก่งคุดคู้ จะมีของฝากขึ้นชื่อนั่นก็คือ มะพร้าวแก้วฝีมือของชาวบ้านรับรองอร่อยไม่แพ้เจ้าใดๆ
ร้านอาหารแนะนำ
– ร้านลุกโภชนา 042 821 281
– ร้านบ้านต้นโขง 0 4282 1281
คุณสามารถเข้าไปดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่::www.facebook.com/media/set/?set=a.204346…e=1&l=49c80d419e
Laisser un commentaire
Vous devez vous connecter pour publier un commentaire.