พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดนครราชสีมา

 

สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ หรือพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ตั้งอยู่ที่ 184 หมู่ 7 บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000 การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (นครราชสีมา-ปักธงชัย) ระยะทาง 19 กิโลเมตร แยกขวาเข้าไปทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(ประตูที่2) อีก 3 กิโลเมตร แยก้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองมิตรภาพ-หนองปลิงอีก 2 กิโลเมตร ถึงบ้านโกรกเดือนห้า ปัจจุบันเป็นที่เก็บไม้กลายเป็นหิน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าหมื่นชิ้น ในบริเวณนี้มีการขุดพบเศษไม้ท่อนไม้กลายเป็นหินตั้งแต่ระดับผิวดิน ถึงระดับความลึก 8 เมตร มีขนาดต่างกัน ตั้งแต่ขนาดกรวดจนถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 50 เซนติเมตร และบางชิ้นมีความยาวมากกว่า 1 เมตร มีสีสันหลากหลายทั้งในก้อนเดียวจนถึงต่างก้อนกัน มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 1 ถึง 70 ล้านปี จังหวัดนครราชสีมา มีโครงการจัดสร้างเป็นอุทยานไม้กลายเป็นหิน และพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชีย เพื่อเป็นการอนุรักษณ์ซากดึกดำบรรพ์นี้ไว้ ให้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลังต่อไป

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน มีพื้นที่ทั้งหมด 80.5 ไร่ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงมาเป็นประทานในการเปิด ชื่อเต็มของสถานที่แห่งนี้คือ”สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา”

ที่นี่แบ่งออกเป็น 3 พิพิธภัณฑ์ด้วยกัน คือ

  1. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน มีไม้กลายเป็นหินที่มีอายุตั้งแต่ 800,000- 330 ล้านปีและไม้กลายเป็นหินเนื้ออัญมณี
  2. พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ มีซากช้างดึกดำบรรพ์หลายสกุล ไม่ว่าจะเป็นช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม และบรรพบุรุษของช้าง
  3. พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ มีชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินพืช และกินเนื้อ พร้อมทั้งวีดีโอแอนิเมชั่นให้ชมอีกด้วย

 

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน มีโครงการก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 แต่จัดสร้างและสามารถจัดแสดงนิทรรศการ ได้ในปีพ.ศ. 2545 และเนื่องจากไม้กลายเป็นหินพบได้ในเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน จึงไม่สามารถนำไม้กลายเป็นหินทั้งหมดจำนวนมาก มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ ส่วนใหญ่จึงจัดไว้ในงานภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ โดยแยกเป็นโซนพื้นที่ของไม้กลายเป็นหินจังหวัดต่างๆ ขณะที่ในพิพิธภัณฑ์จะเน้นในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ตัวอย่างของไม้กลายเป็นหิน เช่น ไม้กลายเป็นหินเนื้ออัญมณี ไม้กลายเป็นหินตระกูลปาล์ม ไม้กลายเป็นหินหลากหลายอายุ

พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ก่อตั้งขึ้นเพราะพบว่า ในจังหวัดนครราชสีมามีซากช้างดึกดำบรรพ์จำนวนมาก และหลากหลายชนิดกว่าจังหวัดอื่นๆในประเทศไทย โดยพบในระดับลึกช่วง 5-40 เมตร จากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและสาขา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โนนสูง จักราช พิมาย และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะตำบลท่าช้างเพียง 1 ตำบล พบช้างดึกดำบรรพ์ถึง 8 สกุล จาก 42 สกุลที่พบทั่วโลก มีอายุอยู่ในสมัยไมโอซีนตอนกลางถึงสมัยไพลสโตซีนตอนต้น(16-0.8 ล้านปีก่อน)

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ก่อตั้งขึ้นเพราะพบว่า พื้นที่ตำบลโคกกรวดที่อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งตำบลสุรนารีที่เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ มีชิ้นส่วนกระดูก และฟันของไดโนเสาร์ กระจายอยู่ทั่วไปและพบต่อเนื่องบนพื้นที่กว้างขวางกว่า 28,000 ไร่ จำแนกเบื้องต้นได้ถึง 4 พวก คืออัลโลซอร์ พวกกินพืชขนาดใหญ่ที่คาดว่าอาจยาวถึง 10 เมตร, โซโรพอด พวกกินพืชขนาดใหญ่คาดว่ามีความยาวไม่ต่ำกว่า 15 เมตร,อิกัวโนดอนต์ พวกกินพืชขนาดกลางมีฟันคล้ายกิ้งก่าอิกัวน่า,แฮดโดรซอร์หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด ไดโนเสาร์เหล่านี้มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ประมาณ 100 ล้านปีก่อน

 

นอกจากนี้ยังมีสวนด้านนอก เช่น สวนอนุสรณ์สถานไม้กลายเป็นหิน ร.6 สวนจำลองภูมิประเทสแสดงที่มาของชื่อหมู่บ้าน โกรกเดือนห้า สวนจำลองภูมิประเทศไม้กลายเป็นหินลุ่มน้ำมูล-ชี เป็นต้น

 

 


 

ราคาบัตรเข้าชม:

ผู้ใหญ่ไทย…………………………..30 บาท

เด็กไทย อนุบาล-ปวช…………….. 10 บาท

นักศึกษา ปวส.-ปริญญาตรี………….20 บาท

เด็กต่างชาติ…………………………50 บาท

ผู้ใหญ่ต่างชาติ…………………….100 บาท

(สำหรับ ผู้สูงอายุ คนพิการ พระ) ฟรี

 

GOOGLE EARTH PLACEMARK

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ
โทร: 044-216617 โทรสาร: 044-216621
อีเมลล์: petrifiedwood_museum@hotmail.com

Laisser un commentaire

Ce site utilise Akismet pour réduire les indésirables. En savoir plus sur comment les données de vos commentaires sont utilisées.